10 สายพันธุ์สุนัขที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วน
1. ดัชชุน (Dachshund)
ดัชชุนตัวยาว หูยาว ขาสั้น ถ้าปล่อยปะละเลยเรื่องสุขภาพเพียงนิดเดียว เจ้าดัชชุนอาจกลายเป็นไส้กรอกยักษ์ พุงติดพื้นก็เป็นได้นะคะ เพราะดัชชุนขึ้นชื่อว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนมากที่สุดพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาอายุเริ่มมากขึ้น อาการขี้เกียจก็เพิ่มขึ้น เคลื่อนไหวน้อยลง นอนมากขึ้น ในขณะปริมาณอาหารอาจเพิ่มขึ้นหรือเท่าเดิม ซึ่งโรคอ้วนของดัชชุนจะนำไปสู่โรคอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อกระดูก โดยเฉพาะกระดูกสันหลัง เนื่องจากดัชชุนเป็นน้องหมาตัวยาวจึงต้องรับแรงกดจากน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นๆ อีกทั้งยังเสี่ยงต่อเป็นโรคหัวใจ ดังนั้นเจ้าของดัชชุนจึงต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับโภชนาการอาหารและการออกกำลังกายเป็นพิเศษ ควรหาอาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง แคลอรี่ต่ำ ให้อาหารน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง พาพวกเขาออกไปเดินเล่น ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน หรือจะพาไปว่ายน้ำก็ได้นะคะ จริงๆแล้วดัชชุนเป็นสุนัขที่รักการว่ายน้ำ เริ่มแรกเขาอาจกลัว ค่อยๆ พาเขาลงสระ อาจจะใช้เวลาสักหน่อย แต่สักพักเขาจะเริ่มชิน แล้วทีนี้ก็จะติดใจจนไม่อยากขึ้นจากสระเลยล่ะค่ะ
2. ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ (Labrador Retriever)
ลาบราดอร์ น้องหมาร่างใหญ่ รักการวิ่งเล่นและว่ายน้ำ แนวโน้มเป็นโรคอ้วนโดยพันธุกรรม เพราะพวกเขากินจุ โปรดปรานการลิ้มรสอาหาร ยิ่งกินเยอะ แล้วไม่ออกกำลังกายยิ่งไปกันใหญ่ ขาของเขาจะอวบอั๋นน่าฟัดทีเดียว แต่ถ้าอ้วนมากๆ อาจยิ่งส่งผลก่อให้โรคกระดูกสะโพกเสื่อมซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมอีกโรคหนึ่งทำให้เป็นเร็วและหนักมากขึ้นก่อนถึงเวลาอันควร หรือในทางกลับกัน เมื่อลาบราดอร์อยู่ในวัยชรา กระดูกสะโพกมีปัญหาทำให้เคลื่อนไหวลำบาก ไม่สามารถออกกำลังกายได้ ได้แต่กินกับนอนจนอ้วน เพื่อนๆ จึงควรเลือกอาหารที่มีแคลอรี่ต่ำ อย่างผักต่างๆ เช่นถั่ว ฟักทอง แครอท และปริมาณไม่มากให้เขากิน ให้ปริมาณน้อยๆ แต่บ่อยๆ แทนให้เยอะๆ วันละมื้อ หรือ 2 มื้อ และควรพาเขาไปออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน โยนลูกบอล พาไปว่ายน้ำ แต่ถ้าเขามีปัญหาเรื่องข้อต่อต่างๆ ให้เดินออกกำลังกาย แต่ใช้เวลานานขึ้นหน่อยก็พอค่ะ
3. ปั๊ก (Pug)
ปั๊ก สุนัขพันธุ์เล็ก ร่างบึกบึน หน้าฮา ตาโต โดยปกติแล้วเป็นสุนัขที่มีสุขภาพดี จิตใจอ่อนโยน แต่ปัญหาสุขภาพที่สร้างความเจ็บปวดทรมานแก่พวกเขามากที่สุดคือ โรคอ้วน เพราะพวกเขารักการกินเป็นชีวิตจิตใจ แล้วมักจะกินมากเกินความต้องการของร่างกาย แม้อาหารที่กินนั้นจะเป็นอาหารเพื่อควบคุมน้ำหนักก็ตาม ดังนั้นผู้เลี้ยงไม่ควรเติมอาหารเขาทุกครั้งที่เห็นว่าชามของเขาว่าง แต่ควรให้อาหารเท่าที่ร่างกายเขาต้องกายแต่พอดี ต้องคอยสังเกตเชคช่วงบริเวณซี่โครงของเขาว่าชักจะตุ้ยนุ้ยมากเกินไปหรือเปล่า ยิ่งเวลาเขามองเรากินด้วยสายตาเว้าวอน ห้ามใจอ่อนเด็ดขาดนะคะ ไม่ต้องกลัวว่าเขาจะหิวค่ะ เพราะพวกเขาหิวตลอดเวลาอยู่แล้ว ^__^ นอกจากนี้ผู้เลี้ยงต้องพาเขาไปออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน แต่ควรพาเดินเล่นในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นเพื่อหลีกเลี่ยงสภาพอากาศที่ร้อนจัดนะคะ ป้องกันโรคลมแดด (Heat Stroke) ที่จะเกิดขึ้นได้เมื่อเขารู้สึกร้อนจัด ต้องคอยฟังเสียงลมหายใจ สังเกตดูว่าเขาเหนื่อยหรือเปล่า การออกกำลังกายน้องปั๊กต้องคอยระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ควรห้ามโหมฟิตหุ่นเขาหนักเกินไป เดี๋ยวน้องปั๊กจะยกธงขาวยอมแพ้เสียก่อนนะคะ ช้าแต่ชัวร์ปลอดภัยกว่าค่ะ
4. เพ็มโบรค เวลช์ คอร์กี้ (Pembroke Welsh Corgi)
ดูจากรูปร่างแล้ว หลายคนไม่คิดว่าน้องเพ็มโบรคเชียร์ เวลช์ คอร์กี้ จะเป็นน้องหมาที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนได้สูงมากที่สุดพันธุ์หนึ่งใช่ไหมคะ แต่โรคอ้วนเนี่ยล่ะค่ะ เป็นหนึ่งในโรคประจำสายพันธุ์ของคอร์กี้ในอันดับต้นๆ เลยทีเดียว แล้วยังทำให้เกิดโรคต่างๆ อีก เช่น โรคกระดูกสะโพกเสื่อม โรคข้อต่ออักเสบ ซึ่งสาเหตุโรคอ้วนของพวกเขามาจากนิสัยเลือกปฏิบัติเชื่อฟังคำสั่งบางคำสั่งก็ทำให้มีผลต่อการสร้างวินัยที่ดีทั้งเรื่องการกิน การออกกำลังกาย และด้วยนิสัย รักอิสระ จนออกจะขี้เกียจ กินแล้วก็นอน ไม่ค่อยอยากเคลื่อนไหว หรือออกกำลังกาย ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของต้องคอยกระตุ้น สร้างวินัย ทั้งการกิน การออกกำลังกาย เผาผลาญแคลลอรี่ส่วนเกินจากการบริโภคในแต่ละวัน อย่างไรก็ตาม ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนของน้องพ็อมฯ อาจเกิดจากโรคเบาหวาน หรือโรคที่มีการผลิตฮอร์โมนมากเกินไป ดังนั้นผู้เลี้ยงควรสังเกตอาการและพาตรวจไปตรวจร่างกายเป็นประจำ
5. บีเกิล (Beagle)
บีเกิลแสนซน ฉลาด ขี้เล่น มีพลังงานเหลือเฟือ ตื่นตัวสุดๆ เป็นหนึ่งในสายพันธุ์สุนัขที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน น้ำหนักเกินพิกัด เพราะพวกเขารักการกิน ชอบนอนเล่นอยู่กับเจ้าของบนโซฟา พอๆกับชอบซุกซนวิ่งเล่นไปมา แต่กลับไม่ชอบการออกกำลัง ประกอบกับอาวุธประจำกายที่ทำให้เจ้านายต้องพลีอาหารนั่นก็คือ ดวงตาแสนเศร้ากับเสียงร้องหงิง “แบ่งอาหารให้ผมหน่อย” เพียงเท่านั้นพวกเขาก็จะได้อาหารสุดพิเศษมาโดยทันที เพิ่มแคลอรี่ขึ้นมาอีกหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นอย่าใจอ่อนเด็ดขาดค่ะ เราต้องสร้างวินัยให้เขาทั้งเรื่องการกิน และการออกกำลังกาย เดินเล่นนอกบ้าน ต้องผูกสายจูงให้ดีนะคะไม่งั้นเขาจะเดินดมโน่น ดมนี่ วิ่งเรื่อยเปื่อยจนหลงทาง ถึงแม้บีเกิลจะมีประสาทการดมกลิ่นเป็นเยี่ยมแต่กลับมีปัญหาเรื่องการดมกลิ่นกลับบ้านค่ะ แถมยังชอบวิ่งเข้าหาถนนที่มีรถพลุกพล่านอีกด้วย เพราะฉะนั้นต้องระมัดระวังไม่ให้คลาดสายตาเชียวค่ะ เดี๋ยวการออกกำลังกายกลายเป็นเล่นซ่อนแอบนะคะ
6. มาสทิฟฟ์ (Mastiff)
มาสทิฟฟ์ สุนัขพันธุ์ยักษ์ใหญ่ สายเลือดนักสู้ แต่พ่วงโรคอ้วนมาเป็นหนึ่งในโรคประจำสายพันธุ์ เพราะด้วยนิสัยของมาสทิฟฟ์โดยธรรมชาติแล้วเป็นสุนัขที่มีนิสัยขี้เกียจ ไม่ค่อยขี้เล่น แถมขี้เกียจ ไม่คิดจะหากิจกรรมสร้างสรรค์ที่ใช้พลังงานมาเล่นกับเจ้าของหรือสุนัขตัวอื่นๆ ยิ่งมาสทิฟฟ์เป็นสุนัขตัวโตกินอาหารปริมาณมาก พอไม่ได้ออกกำลังกายก็ยิ่งอืดบวมเข้าไปใหญ่ จนอาจเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหรืออาการอื่นๆ ตามมา เช่น โรคเกี่ยวกับข้อต่อกระดูกความเครียด โรคตับ โรคไต รวมทั้งโรคกระดูกสะโพกเสื่อม ผู้เลี้ยงจึงควรพาเขาออกไปเดินหรือวิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะหรือสนามหน้าบ้าน แต่ไม่ควรพาเขาไปเดินเล่นช่วงอากาศร้อนเพราะมาสทิฟฟส์ทนต่อสภาพอากาศร้อนได้น้อย อาจจะทำให้เกิดโรคลมแดด (Heat Stroke) ได้ ควรพาเขาวิ่งช่วงเช้าหรือเย็น ซึ่งอากาศไม่ร้อนเกินไป ส่วนมาสทิฟฟ์วัยกระเตาะ ผู้เลี้ยงควรฝึกวินัยควบคุมเรื่องอาหารและพาเขาไปออกกำลังเป็นประจำทุกวันเช่นกัน แต่ไม่ควรหักโหมมากนัก เพราะอาจจะทำให้เกินการกระทบกระเทือนต่อข้อกระดูกต่างๆ ที่ยังอ่อนอยู่และกำลังเจริญเติบโต การออกกำลังกายทั้งมาสทิฟฟส์วัยเด็กและวัยผู้ใหญ่ จึงควรตั้งอยู่บนความพอดีค่ะ
7. บาสเซ็ต ฮาวด์ (Basset Hound)
บาสเซ็ต ฮาวด์ ตัวยาว หน้าย่น เชื้อสายนักล่า และรักการออกไปเที่ยวนอกบ้าน จากคุณสมบัติพวกเขาน่าจะเป็นสุนัขแอคทีฟ สุขภาพดี แต่กลับมีโรคประจำสายพันธุ์ในอันดับต้นๆ เป็นโรคอ้วน นั่นเป็นเพราะว่า ทันทีที่พวกเขาเดินเข้ามาในบ้าน อาการขี้เกียจก็กำเริบ กลายเป็นสุนัขที่เฉื่อยชาถึงขีดสุด มีจิตวิญญาณแห่งความขี้เกียจสิงอยู่ เขาจะไม่ลุก ไม่เดิน ได้แต่นั่งๆ นอนๆ ถ้าอยากเล่นก็จะเล่นอยู่แต่บนโซฟาได้หลายชั่วโมง ถึงเวลากิน ถาดอาหารก็อยู่ตรงหน้า เคลื่อนไหวนิดเดียวก็ได้กินอาหารสมใจ ไม่นานก็เริ่มอ้วนกลม ย้วยทั้งใบหน้า ทั้งลำตัว แต่ผู้เลี้ยงหลายคนมักรู้สึกว่ายิ่งน้องบาสเซ็ต ฮาวด์อ้วน ยิ่งดูน่ารักมีเสน่ห์ โดยหารู้ไม่เลยว่า โรคอ้วนของพวกเขานี่เองที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เพราะอาจทำให้เกิดโรคเบาหวาน ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และอาการเสื่อมของกระดูกต่างๆ แล้วนอกจากความขี้เกียจเป็นเหตุแล้ว โรคประจำตัวอย่างโรคหมอนรองกระดูกก็มีผลทำให้พวกเขามีน้ำหนักเกิน เพราะการเคลื่อนไหวที่ยากลำบาก ดังนั้นการป้องกันโรคอ้วนของพวกเขาคือ สร้างสมดุลของการใช้พลังงานกับปริมาณอาหาร เพื่อไม่ให้มีแคลอรี่ส่วนเกินจากพลังงานเหลือใช้ และพาพวกเขาไปออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน แต่ไม่ใช่แค่พาเดินตามทางอิฐทางบล็อคเท่านั้นนะคะ ต้องพาเขาไปวิ่งในสนามหญ้า หรือพื้นที่โล่งกว้าง ให้เขาได้เผาผลาญพลังงานอย่างเต็มที่ และสลัดเจ้าตัวขี้เกียจออกไป
8. อิงลิช บูลด็อก (English Bulldog)
อิงลิช บูลด็อก น้องหมาตัวเหลี่ยม ล่ำๆ ตันๆ แลดูเจ้าพลัง และค่อนข้างแอคทิฟ ชอบเดินไปนี่ วิ่งไปโน่น แต่เอ๊ะ ทำไมถึงอ้วนได้นะ นั่นเพราะอิงลิชบูลด็อกเป็นสุนัขที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนจากพันธุกรรมน้ำหนักขึ้นเร็วมากแม้จะในอาหารปริมาณปกติก็ตาม และโรคอ้วนนี้ยังส่งผลให้เกิดปัญหาระบบทางเดินหายใจในเวลาต่อมา นอกจากนี้แล้วนิสัยที่ติดมาทางกรรมพันธุ์ก็มีส่วนค่ะ เนื่องจากโดยธรรมชาติ อิงลิช บูลด็อกเป็นสุนัขเงียบขรึม เอื่อยเฉื่อยบางอารมณ์ แถมยังไม่ค่อยชอบออกกำลังกายด้วยเองอีกต่างหาก การพาออกไปเดินเล่น ออกกำลังกายจนเป็นวินัยเป็นวิ่งสำคัญมากๆค่ะ แต่ก็กลับมีปัญหาอีกตรงที่เขาเป็นสุนัขที่ไม่ควรพาออกกำลังกายในอากาศที่หนาว หรืออากาศร้อนมากๆ เพราะพวกเขาเป็นสุนัขขนสั้นทนต่ออากาศหนาวมากไม่ได้ แต่ถ้าอากาศร้อนมาก ก็จะทำให้เกิด โรคลมแดด (Heat Stroke) ที่เกิดจากการได้รับความร้อนมากเกินไปจนอาจทำให้หมดสติได้ ดังนั้นถ้าจะพาเขาเดินเล่นช่วงหน้าร้อนควรพาไปช่วงเวลาที่อากาศไม่ร้อนจัด และควรเตรียมน้ำไว้ให้พร้อมด้วยนะคะ ^^
9. เรดบอร์น คอนฮาวด์ (Redbone Coonhounds)
เรดบอร์น คอนฮาวด์ น้องหมาสายพันธุ์นักล่า ขนาดปานกลาง ร่างกายเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อ และ มีหนึ่งในโรคประจำสายพันธุ์คือ....โรคอ้วน! ดูเผินๆ คงไม่มีใครเชื่อ ต้องดูลึกกันถึงระดับ DNA เลยทีเดียว แล้วแม้พวกเขาจะเป็นสุนัขที่แอคทีฟ ต้องการการออกกำลังกาย แต่พวกเขาก็ปรับตัวได้ง่ายกับทุกไลฟ์สไตล์ของชีวิต ยิ่งถ้าเจ้าของเอื่อยเฉื่อยไม่พาไปออกกำลังกายหรือหากิจกรรมให้พวกเขาได้เล่น ได้จัดการกับพลังงานเหลือใช้ สามารถนอนนิ่งๆ หรือนั่งๆ เฉยๆ ไม่เดือดร้อน นอกจากนี้แล้ว เรดบอร์น คอนฮาวด์มีลักษณะนิสัยเช่นเดียวกับสุนัขสายพันธุ์ฮาวด์ตัวอื่นๆ คือกินอาหารเกินความพอดี มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วนได้สูงในสายพันธุ์นี้ และโรคอ้วนนี่แหละค่ะ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้สุนัขอายุสั้นลง ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงควรป้องกันโรคอ้วนด้วยการพาเขาออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมปริมาณอาหาร ไม่ตามใจเขาเรื่องกิน เพราะพวกเขากินจุและกินได้เรื่อยๆ อยู่แล้ว ความอยากอาหารของเขาไม่ได้หมายถึงว่าเขาหิว หรือได้รับอาหารไม่เพียงพอ ผู้เลี้ยงจะต้องใจแข็งนะคะ ไม่อย่างนั้นนอกจากโรคอ้วนจะถามหาแล้ว อาจจะมีโรคข้อต่ออักเสบ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งได้ค่ะ
0. นิวฟาวด์แลนด์ (Newfoundland)
นิวฟาวด์แลนด์ น้องหมาตัวใหญ่ พละกำลังมหาศาล หนึ่งในสายพันธุ์สุนัขที่ไว้ใช้งานที่มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วนเนื่องจากหลายสาเหตุทั้งปัญหาของโภชนาอาหารที่พวกเขาได้รับ ระบบการเผาผลาญทำงานไม่ค่อยดีมีประสิทธิภาพสักเท่าไหร่ และสาเหตุหลักคือการให้อาหารเกินความต้องการของร่างกาย เจ้าของมักคิดว่าตัวใหญ่ต้องกินเยอะเขาถึงจะอิ่ม และมักไม่ค่อยยอมรับว่าพวกเขากำลังอ้วน เพราะร่างที่ใหญ่โต ขนฟูของเจ้านิวฟาวด์แลนด์นั่นเอง และถึงแม้พวกเขาจะชอบให้พาจูงไปเดินเล่นออกกำลังกาย ทว่ากลับเป็นสุนัขที่ไม่ชอบออกกำลังกายด้วยตัวเอง ไม่กระตือรือร้นหากิจกรรมมาเล่น ถ้าไม่มีใครพาไปก็จะนั่งๆ นอนๆ อยู่แต่ในบ้าน ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องหมั่นพาไปออกกำลังกาย โดยการเดินเล่นในสวนสาธารณะหรือวิ่งเหยาะๆ บนทางเดินปูอิฐท่ามกลางอากาศเย็นกำลังดี หรือพาไปว่ายน้ำ ไม่ควรให้เขาวิ่ง เพราะตัวของพวกเขาใหญ่และหนักมากจะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อต่างๆ ได้ง่าย และไม่ควรพาวิ่งในช่วงเวลาที่อากาศร้อนเพราะจะทำให้เกิดโรคลมแดด จึงควรสังเกตดูอาการผิดปกติของเขาอย่างใกล้ชิดนะคะ
ที่มา
http://www.dogilike.com/content/tip/1746/10-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%B8%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%B1%E0%B8%82%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%99.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น